สะเดา

         เกษตรกรไทย รู้จักนำสารสกัดจากพืชมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชมานานแล้ว ถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน แม้ในช่วงเวลาหนึ่ง  จะมีสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเข้ามาทดแทน เพราะใช้ได้สะดวก และเห็นผลรวดเร็วทันใจ     แต่ในยุคนี้ที่หลายฝ่ายตระหนักเรื่องความปลอดภัยของสุขอนามัย  และสิ่งแวดล้อม มีการรณรงค์ให้ลดปริมาณการใช้สารเคมีลง   สารสกัดจากพืชจึงกลับมามีบทบาทในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมีอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย

          กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ได้เห็นความสำคัญในการลดการใช้สารเคมี และสนับสนุนให้มีการใช้สารสกัดจากพืชแทนการใช้สารเคมี จึงได้ศึกษาวิจัย นำพืชสมุนไพร หรือพืชพื้นเมืองที่มีศักยภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช มาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยต่อผู้ใช้คือเกษตรกรแล้ว ยังปลอดภัยต่อผู้บริโภค   ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และราคาถูกกว่าสารเคมีด้วย จึงขอแนะนำพืชบางชนิดที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ เช่น สะเดา  สาบเสือ  หนอนตายหยาก  ขมิ้นชัน ข่า และตะไคร้หอม เป็นต้น


สะเดา

          สะเดา เป็นพืชยืนต้น วงศ์เดียวกบมะฮอกกานี ในประเทศไทยมีสะเดา 3 ชนิด คือ

          -  สะเดาอินเดีย    ลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย  แหลม  โคนใบเบี้ยว  ปลายใบแหลมเรียว  ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอด ดอกสีขาว
มีกลิ่นหอม ปกติจะออกดอกปีละครั้งประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน และผลจะสุกประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

          -  สะเดาไทย   ใบจะโตกว่าสะเดาอินเดีย สีเขียวเข้ม หนา และทึบ ขอบใบหยักน้อย ดอกสีขาว ออกดอกเดือนธันวาคม – มกราคม ผลจะสุกในเดือนเมษายน – พฤษภาคม
         -  สะเดาช้าง หรือไม้เทียม ต้นสูง 30-40 เมตร  ใบเป็นช่อ ก้านใบยาว ใบย่อยมีรูปทรงเป็นรูปหอกแกมใบมน ปลายใบค่อนข้างแหลม เป็นกิ่งสั้นๆ ฐานใบเบี้ยวไม่เท่ากัน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อยาว สีขาวอมเขียวอ่อน ออกดอกเดือนมีนาคม และผลจะสุกในเดือนพฤษภาคม   เป็นไม้โตเร็วที่พบมากในภาคใต้ของไทย     ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป      สะเดามีสาระสำคัญ คือ อาซาไดแรคติน  ซาแลนนิน เมเลีย ไตรออล และนิมบิน สารเหล่านี้มีประสิทธิภาพดังนี้
          -  ยับยั้งการลอกคราบของแมลง โดยไปขัดขวางและยับยั้งการสร้างฮอร์โมนที่ใช้ในการลอกคราบ
          -  ยับยั้งการกินอาหารชนิดถาวร จนทำให้แมลงตายในที่สุด
          -  ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ หนอน และดักแด้
          -  เป็นสารไล่แมลง
          -  ยับยั้งการวางไข่ของแมลง ทำให้ปริมาณไข่ลดลง
          -  สารสกัดจากสะเดา สามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชต่างๆ ดังนี้
วิธีใช้
           * เมล็ดสะเดาบดละเอียดอัตรา 1,000 กรัม  ต่อน้ำ 20 ลิตร  แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน   กรองเอาส่วนน้ำไปพ่นในแปลงปลูกพืช (ใช้ได้ผลในแปลงปลูกที่ศัตรูพืชระบาดไม่รุนแรง  และหนอนมีความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงไม่มาก   ควรพ่นก่อนมีการระบาด หรือมีการระบาดเพียงเล็กน้อย และพ่นติดต่อกันไปทุก 7 วัน ในแหล่งที่ระบาดอย่างรุนแรง)
           **  เมล็ดสะเดาบดละเอียดอัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ (หว่านรอบต้นในอัตรา 2.5 กรัมต่อหลุม   สามารถที่จะกำจัดตัวอ่อนของด้วงหมัดผักที่อาศัยอยู่ในดินได้ดี ส่วนตัวเต็มวัย ที่ทำลายส่วนใบ สารสกัดสะเดาไม่สามารถป้องกันกำจัดได้)