ตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม

          ตะไคร้หอม  หรือบางท้องถิ่นเรียกว่าคะไคร้แดงหรือตะไคร้มะขูด เป็นพืชล้มลุก ที่มีหรัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นจะตั้งตรงและจะแตกออกมาเป็นกอ  ที่โคนจะเป็นกาบเป็นชั้นๆ เหมือนตะไคร้บ้าน ลำต้นเป็นสีแดงยาว สูงประมาณ 2 เมตร มีใบยาวกว่าตะไคร้บ้าน  ลักษณะใบแคบ ยาว 1 เมตร กว้าง 5 - 20 มิลลิเมตร  สีเขียว  ผิวเกลี้ยง มีกลิ่นหอมตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ   มีแผ่นรูปไข่ปลาปลายตัดยื่นอกมายาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนาดกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน  เมื่อแห้งจะม้วนขึ้น ดอกออกเป็นช่อฝอยคล้ายดอกอ้อ ขนาดยาวประมาณ 2 ฟุต มีใบประดับคล้ายกาบรองรับอยู่ ตะไคร้หอมมี 2 พันธุ์ คือ
           -  ตะไคร้หอมพันธุ์ชวา ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
           -  ตะไคร้หอมพันธุ์ศรีลังกา ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

          ในตะไคร้หอม มีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญได้แก่ ไซโทรเนเลล ไซโทรเนลอล เจอรานิออล  นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอื่นๆ คือ เจอรานิเอล พีนีนลิโมนีน บอร์นีออล คูมาริน

          สารเหล่านี้ประสิทธิภาพในการไล่แมลงศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาวและแมลงในโรงเก็บ สามารถไล่ยุงและแมลงวัน รวมทั้งกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และแบคทีเรีย

          การใช้ตะไคร้หอมป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำได้ดังนี้

          1)  นำใบและต้นผึ่งลมจนแห้ง แล้วบดละเอียด นำมาโรคโคนต้น หรือคลุกเมล็ดธัญพืช ใช้ไล่แมลง
          2)  ใบตะไคร้หอมบดละเอียด 400 กรัม แช่น้ำ 8 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอากากออกนำมาฉีดพ่น สามารถไล่หนอนไยผัก
          3)  ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม ผสมสะเดาบด 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 75 ลิตร       สกัดโดยใช้เครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืชพลังงานแสงอาทิตย์ 1 วัน  โดยใส่เมล็ดสะเดาบด เมื่ออุณหภูมิของน้ำในหม้อต้มต่ำกว่า 50 องศาเซลเซียส  เพื่อป้องกันการสลายตัวของสารอาซาไดเรคติน  รุ่งเช้า  ไขน้ำออก นำน้ำไปฉีดพ่นไล่แมลง

          ข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของพืชสมุนไพร และพืชพื้นบ้านบางชนิดที่สามารถนำส่วนต่างๆ มาใช้ในการป้องกันกำจัด หรือควบคุมศัตรูพืชได้ สามารถทำได้ง่ายๆ  แต่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไล่แมลงหรือกำจัดแมลง  และโรคพืชได้เป็นอย่างดี  ใช้แล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค ราคาไม่แพง